วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การใช้พันธุศาสตร์เพื่อศึกษาค้นคว้าหายีนและหน้าที่ของยีน



เนื่องจากเซลล์ของสิ่งมีชีวิตทุกเซลล์มีโปรตีน เป็นตัวดำเนินกิจกรรมต่างๆของชีวิต ดังนั้นหากมีการยับยั้งการทำงานของโปรตีนหรือทำให้เกิดการทำงานผิดปกติของยีนดังกล่าว จะมีผลต่อลักษณะของสิ่งมีชีวิตนั้นๆได้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่สามารถสังเกตได้ คือการเปลี่ยนแปลงของฟีโนไทป์นั้น ด้วยการศึกษาย้อนกลับไปว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นที่โปรตีนใด ยีนใด ก็จะทราบถึงหน้าที่ของยีนอื่นๆนั้นได้ ซึ่งนั่นคือการชักนำให้เกิดมิวเทชันในสิ่งมีชีวิตหรือการสร้างมิวแทนท์ (mutant) ที่มีการเปลี่ยนแปลงของฟีโนไทป์บางประการแล้วอาศัยเทคนิคต่างๆทางชีววิทยาระดับโมเลกุล เพื่อศึกษาว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นที่ยีนใด

รศ.ดร.อภิชาติ วรรณะวิจิตรและคณะ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาลักษณะความหอมของข้าว พบว่ายีนที่ควบคุมลักษณะดังกล่าวเป็นยีนด้อย จากการศึกษาแผนที่ยีนร่วมกับเครื่องหมายทางพันธุกรรมรวมทั้งการผสมพันธุ์ การใช้ข้อมูลชีวสารสนเทศ (bioinformation) ของจีโนมข้าว ทำให้สามารถระบุได้ว่ายีนความหอมในข้าวอยู่บนโครโมโซมแท่งที่ 8 และสามารถโคลนยีน Os 2AP ซึ่งควบคุมลักษณะความหอมของข้าวได้สำเร็จ โดยพบว่าโปรตีนที่สร้างจากยีนOs 2 AP จะช่วยยับยั้งสารที่ให้ความหอม ซึ่งถ้ายับยั้งการแสดงออกของยีนนี้ก็จะได้ข้าวที่มีความหอม การศึกษาทางพันธุศาสตร์นั้นสามารถนำไปสู่การค้นพบยีนที่ทำหน้าที่ต่างๆ และหากค้นคว้าอย่างลึกซึ้งถึงกลไกลการทำงานต่างๆของยีนนั้นได้ ก็จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนในอนาคต